ข่าวใหม่อัพเดท » องคมนตรี ติดตามความก้าวหน้าโครงการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จ.จันทบุรี รองรับปฏิบัติการฝนหลวง ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพี่น้องประชาชนในภาคตะวันออก

องคมนตรี ติดตามความก้าวหน้าโครงการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จ.จันทบุรี รองรับปฏิบัติการฝนหลวง ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพี่น้องประชาชนในภาคตะวันออก

5 ตุลาคม 2020
0

องคมนตรี ติดตามความก้าวหน้าโครงการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จ.จันทบุรี รองรับปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพี่น้องประชาชนในภาคตะวันออก

วันอาทิตย์ที่ 4 ต.ค.63 เวลา 16 .00 น. ที่หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง สนามบินท่าใหม่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุก องคมนตรี และประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง พร้อมด้วย พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ จ.จันทบุรี พร้อมรับฟังบรรยายสรุป ผลการดำเนินงานการปฏิบัติการทำฝนหลวงในพื้นที่ภาคตะวันออก

โดยนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บังคับฝูงบิน 3141 ทร. ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งจิตอาสาฝนหลวง จ.จันทบุรีให้การต้อนรับและบรรยายสรุปความคืบหน้าการปรับปรุงสนามบินเพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจันทบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานบินปฏิบัติการฝนหลวงของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดในความรับผิดชอบของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิง เทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, และตราด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน

โดยจากเดิมมีพื้นที่รันเวย์เป็นดินลูกรังบดอัดแน่น ประกอบกับประสบปัญหาเป็นฝุ่นในฤดูแล้งและลื่นในช่วงหน้าฝน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงมีแผนการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาเป็นรันเวย์ราดแอสฟาติกส์คอนกรีต เพิ่มระยะทางทั้งหมด จากรันเวย์ดินลูกรัง 1,500 เมตร เป็นรันเวย์คอนกรีต 1,300 เมตร และเพิ่มระยะวิ่งจาก 980 เมตร ที่รองรับได้เพียงเครื่องบินขนาดเล็กคาราแวน (CARAVAN) เป็นระยะ 1,200 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดกลางคาซ่า (CASA) และเกิดความปลอดภัยในการบินขึ้น-ลง ของเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร อีกทั้งเพื่อให้มีความเป็นมาตรฐานของสนามบิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความมั่นใจ เกิดผลสัมฤทธิ์จากการปฏิบัติการฝนหลวงที่มีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรและแหล่งเก็บกักน้ำต่าง ๆ ได้มากขึ้น

ซึ่งได้เริ่มดำเนินการสร้างตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 และขณะนี้อยู่หว่างการดำเนินการปรับปรุงสนามบินท่าใหม่ในระยะที่ 1 (ก.ค.63-พ.ย.63) ดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 71% มีการปรับพื้นผิวเพื่อปูยางชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 บริเวณ Overrun และขุดลอกระบายน้ำขนานกับ R/W ได้ระยะทางประมาณ 500 เมตรเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการดำเนินงานเกิดความล่าช้าเล็กน้อยเนื่องจากหน้างานมีสภาพอากาศ ฝนตกชุกตลอดทั้งวัน ทำให้มีน้ำขังบริเวณก่อสร้างและเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติงาน แต่คาดว่าจะแล้วเสร็จทันกำหนดเวลาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 นอกจากนี้ประธานกรรมการได้มีข้อคิดในที่ประชุมว่าหากสามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามกำหนดแล้ว ควรมีการนำอุปกรณ์เครื่องช่วยเดินอากาศแบบเคลื่อนที่มาใช้งานเพื่อให้สามารถใช้งานสนามบินได้ในทันที

ทั้งนี้สนามบินท่าใหม่จะเป็นฐานบินปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เดือนเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เนื่องจากสนามบินอยู่ทางด้านต้นลมในฤดูแล้งช่วงเดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำให้สามารถบินปฏิบัติการทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้งและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรของภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ปลูกไม้ผลของจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด และสระแก้วตอนล่างได้ทั้งหมด ปัจจุบันพื้นที่การเกษตรของภาคตะวันออกมีจำนวน 12.8 ล้านไร่ หรือร้อยละ 56 ของพื้นที่ทั้งหมด 22.8 ล้านไร่ ซึ่งได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมาก มีพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานจำนวน 884,354 ไร่ และพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานจำนวน 12 ล้านไร่ ปลูกพืชเศรษฐกิจมูลค่าภาคการเกษตรจำนวน 7.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก องคมนตรี และประธานกรรมการที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวงได้รับฟังการบรรยายสรุปผลการปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก จากนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในช่วงที่ผ่านมาว่าในส่วนของการปฏิบัติการฝนหลวง ตั้งแต่ 3 กุมภาพันธ์ – 29 กันยายน 2563 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีหน่วยปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งหมด 12 หน่วย ขึ้นบินปฏิบัติการรวม 220 วัน 5,619 เที่ยวบิน (8,328:20 ชั่วโมงบิน) มีฝนตกจากการปฏิบัติการรวม 218 วัน คิดเป็นร้อยละ 99.09 จังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม 67 วัน ทำให้มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง 197.50 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 226 แห่ง (เขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง เขื่อนขนาดกลาง 192 แห่ง) และสามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำรวม 3,574,693 ล้าน ลบ.ม.ในส่วนของการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก ตั้งแต่วันที่ ๓ ก.พ.๒๕๖๓ – ๒๙ ก.ย.๒๕๖๓ รวม ๑๕๑ วัน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ ๙๖.๖๔ ขึ้นปฏิบัติการรวม ๖๑๑ เที่ยวบิน (๑,๐๒๕:๕๕ ชั่วโมงบิน) ปฏิบัติภารกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน ๑๘.๘๑ ล้านไร่ ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำระหว่างวันที่ ๓ ก.พ.-๓๑ ส.ค.๖๓ จำนวน ๓๐ เขื่อน รวม ๕๕.๑๓๑ ล้าน ลบ.ม. ภารกิจเติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนกักเก็บน้ำระหว่างวันที่ ๑-๓๐ ก.ย.๖๓ จำนวน ๑๒ เขื่อน รวม ๑๒.๖๔๖ ล้าน ลบ.ม. มีรายงานฝนตกในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว รวม ๗ จังหวัด

สำหรับสนามบินท่าใหม่ นอกจากจะเป็นฐานบินปฏิบัติการฝนหลวงแล้วยังสามารถเป็นสนามบินสำรองหรือสนามบินฉุกเฉิน และสนับสนุนภารกิจทางการทหารและความมั่นคงได้เป็นอย่างดี อันจะเป็นการดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการฝนหลวง ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎรต่อไป


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา  ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย  พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

error: Content is protected !!