ข่าวใหม่อัพเดท » “ครูพี่โอ๊ะ” ลงพื้นที่ชายแดนใต้ ดัน “ปาล์มสาคู และหลุมพี” สู่พืชเศรษฐกิจ

“ครูพี่โอ๊ะ” ลงพื้นที่ชายแดนใต้ ดัน “ปาล์มสาคู และหลุมพี” สู่พืชเศรษฐกิจ

10 ตุลาคม 2020
0

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2563 : ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา (รมช.ศธ.),นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงาน (รมช.ศธ.),นายณัฐพงษ์ นวลมาก รองเลขาธิการ (กศน.),นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการ (กช.) ตรวจเยี่ยมชมโครงการบริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดง โดยมี นายเอกรัฐ หลีเสน ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส,นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก,นายพลีชีพ หลำหัส รักษาการ ผอ.ศูนย์ฯ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส

รมช.ศึกษาธิการฯ กล่าวว่า การมาตรวจราชการ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในครั้งนี้ตั้งใจมาเพื่อติดตามการพัฒนาอาชีพและผลิตภัณฑ์จากปาล์มสาคูเพื่อผลักให้เป็นพืชเศรษฐกิจของพี่น้องชายแดนใต้ เนื่องจากพบว่าต้นปาล์มสาคูสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หมดทุกส่วน อาทิ แป้งที่สะสมอยู่ในส่วนลำต้นสามารถนํามาประกอบอาหารคาวหวานได้หลากหลาย ใบนํามาเย็บเป็นตับเพื่อใช้มุงหลังคาหรือกั้นฝาบ้าน ห่อขนม สานตะกร้า กระจาดหรือเสื่อ ก้านใบย่อยเมื่อลอกเอาส่วนใบออกใช้ทําไม้กวาด ลําต้น ที่มีความแข็งแรง สามารถใช้ประโยชน์เพื่องานก่อสร้างหรืออุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน และส่วนที่เหลือของลําต้นยังสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

ปัจจุบันพื้นที่ป่าปาร์มสาคูลดลงเป็นอย่างมากเนื่องจาก ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงประโยชน์ที่หลากหลายจากปาล์มสาคูจึงทำการตัดโค่นเพื่อนำพื้นที่ป่าไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ดังนั้นจึงควรมีการบริหารจัดการองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและความรู้จากงานวิจัยที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้มอบหมายให้ (กศน.) นราธิวาส เป็นแกนนำและประสานงานภาคีเครือข่ายเพื่อให้ความรู้ประชาชนถึงคุณค่าและประโยชน์จากปาล์มสาคูเพื่อให้ปาล์มสาคูยังคงอยู่อย่างยั่งยืน และสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นวัตถุดิบเพื่อการอุตสาหกรรมต่อไป

ในเวลาต่อมาลูกเสือมัคคุเทศก์ของ (กศน.) นำครูพี่โอ๊ะเยี่ยมชมโครงการบริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดง และนิทรรศการผลิตภัณฑ์จากปาล์มสาคู พร้อมร่วมปลูกป่า ณ ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (ป่าพรุโต๊ะแดง) อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งพบว่ายังมีพืชอีกชนิดหนึ่ง ที่น่าสนใจ ชื่อว่า “หลุมพี” สามารถรับประทานได้มีรสชาติคล้ายระกำ ซึ่งน่าจะนำมาใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอดให้เป็นพืชเศรษฐกิจได้ จึงได้สั่งการให้ (กศน.) นราธิวาส ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ถึงคุณค่าทางอาหารและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ อื่นใดได้บ้าง เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาให้เป็นพืชเศรษฐกิจของพี่น้องชายแดนใต้ต่อไป


Cr.ปรานี บุญยรัตน์ ณัฐวุฒิวากะเวน : ข่าว
ปรานี บุญรัตน์. : ถ่ายภาพ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!