“ส่งชู้สอนสาว” หรือ “โสงจู้ซอนซาว” ตามการออกเสียงของชาวไตดำ คือวรรณ กรรมรักโรแมนติก ของชาวไตดำในเวียดนาม ที่ได้รับความนิยม และเผยแพร่อย่างน้อยนับร้อยปี ซึ่งการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ทำให้เราได้เข้าใจในเรื่องชาติพันธุ์ วัฒนธรรมและภาษาที่มีความใกล้เคียงกับภาษาไทย
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาและวิจัยวรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไตดำในเวียดนาม และเผยแพร่ในรูปหนังสือ “จากรักโรแมนติกสู่การต่อสู้ทางชนชั้น : อ่าน “ส่งชู้สอนสาว” วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไตดำในเวียดนาม” และยังเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติฯ ระบุว่า ความโดดเด่นของ “ส่งชู้สอนสาว” คือ มีความพื้นบ้านและพูดเรื่องของชาวบ้าน โดยไม่พูดถึงชนชั้นสูง มีการใช้ภาษาพื้นๆ ค่อนข้างมาก โดยมีคำเวียดหรือคำบาลีสันสกฤตที่เป็นอิทธิพลจากพุทธศาสนาปนอยู่น้อย วรรณกรรมเรื่องนี้จึงสะท้อนความเป็นคนไตดำและจิตวิญญาณของคนไตดำอย่างมาก
“ที่น่าสนใจคือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่วิพากษ์สังคม วิจารณ์สังคม ให้ความรู้สึกของหนุ่มสาวหรือผู้หญิงที่รู้สึกเป็นเบี้ยล่าง เรื่องนี้มีความเป็นมนุษยนิยมสูง ทำให้คนชอบ เนื้อเรื่องยังเป็นโศกนาฏกรรมหน่อยๆแต่ตอนจบก็ลงเอยอย่างมีความสุข”
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติฯ เล่าถึงความน่าสนใจของวรรณกรรม “ส่งชู้สอนสาว” ที่มีความหมายว่า สั่งลาคนรัก และเป็นวรรณกรรมมุขปาฐะและวรรณกรรมลายลักษณ์อักษรที่มีอายุมากกว่า 100 ปี
เนื้อเรื่องย่อๆ ของวรรณกรรมเรื่องนี้ เล่าถึงหนุ่มสาวที่เติบโตมาด้วยกันและรักกัน แต่ผู้ชายถูกกีดกันจากครอบครัวฝ่ายหญิงเพราะมีฐานะยากจน นางเอกหรือขวัญหญิงของเรื่องจึงถูกบังคับให้แต่งงานกับผู้ชายที่ร่ำรวยกว่าตามความต้องการของครอบครัว ส่วนพระเอกหรือขวัญชายก็ไปทำอาชีพค้าขายเพื่อเก็บเงิน เมื่อได้มาเจอกันภายหลังขวัญชายได้แนะนำนางเอกถึงวิธีทำตัวให้สามีเกลียด นางเอกจึงทำตามและได้หย่าขาดจากสามีคนแรก แต่ก็ได้แต่งงานใหม่อีกครั้ง และขวัญหญิงก็หาวิธีทำให้สามีใหม่หย่าอีกครั้ง แต่ตัวเองถูกขายไปเป็นทาส
เรื่องราวดำเนินมาจนกระทั่งขวัญชายค้าขายจนร่ำรวย และได้ซื้อตัวขวัญหญิงที่ถูกขายเป็นทาสในราคาถูก โดยที่เขาไม่ทราบว่านั่นคือผู้หญิงที่เขารัก เพราะฝ่ายหญิงแก่ตัวลงมาก กระทั่งขวัญหญิงได้หยิบเครื่องดนตรีที่เรียกว่า “หืนต๊อง” หรือพิณปาก ออกมาเป่าเพลงที่มีทำนองเฉพาะและรู้กันเพียงขวัญชายและขวัญจริง ฝ่ายชายเมื่อจำได้ จึงได้ขอหย่ากับภรรยาและแบ่งสมบัติ แล้วมาแต่งงานกับขวัญหญิง
วรรณกรรม “ส่งชู้สอนสาว” ซึ่งเป็นภาษาไตดำที่คล้ายภาษาลาวและภาษาถิ่นทางภาคเหนือของไทยนั้น ได้รับการแปลเป็นภาษาเวียดนามถึง 3 สำนวนแปล และได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ของรัฐอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2500 ถึงประมาณปี พ.ศ.2545 และเป็นส่วนหนึ่งของแบบเรียนนักเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศเวียดนาม
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติฯ ซึ่งเคยศึกษาที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เล่าเพิ่มเติมว่า ที่ประเทศเวียดนามนั้นบังคับให้นักเรียนมัธยมเรียนวรรณกรรมของชนกลุ่มน้อยด้วย ส่วนหนึ่งนั้นเนื่องจากประวัติศาสตร์การเมืองของเวียดนามมีความสัมพันธ์กับชนกลุ่มน้อยที่ร่วมต่อสู้กับนักล่าอาณานิคม หากพิจารณาแผนที่ภูมิประเทศของเวียดนาม เฉพาะภาคเหนือของเวียดนามพื้นที่ 50-60 % เป็นพื้นที่สูงและเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อย ส่วนพื้นที่ราบคนเวียดอาศัยกันอย่างแออัด พื้นที่ส่วนใหญ่ของเวียดนามจึงถูกครอบครองโดยชนกลุ่มน้อย
“วรรณกรรมเล่มนี้พูดถึงสามัญชน ซึ่งถูกชูขึ้นมาพร้อมกับช่วงอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แรง ๆ ที่พูดถึงคนชั้นล่าง คนยากไร้ ผู้หญิงที่ถูกกดขี่ และความสำคัญของชนกลุ่มน้อยซึ่งอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ อันเป็นพื้นที่ติดต่อทางพรมแดน และมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย อีกทั้งยังเป็นที่กบดานของคอมมิวนิสต์เพื่อสู้กับฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ชนกลุ่มน้อยจึงมีความสัมพันธ์กับการเป็นชาติเวียดนามสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่เขาสอนเด็กของเขาเอง ในรัฐธรรมนูญของเวียดนามยังระบุว่า เวียดนามประกอบไปด้วยหลายชาติพันธุ์” รองศาสตราจารย์ ดร.ยุกติฯ กล่าวถึงความน่าสนใจของวรรณกรรม
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน