ข่าวใหม่อัพเดท » เกษตรกร จ.นครพนม จับมือ เทศบาลเมืองนครพนม พัฒนากลุ่มเกษตรกรปลูกผักริมน้ำโขง…สู่การผลิตพืชผักได้มาตรฐาน (GAP)

เกษตรกร จ.นครพนม จับมือ เทศบาลเมืองนครพนม พัฒนากลุ่มเกษตรกรปลูกผักริมน้ำโขง…สู่การผลิตพืชผักได้มาตรฐาน (GAP)

7 พฤศจิกายน 2020
0

ริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่ที่มีดินตะกอนอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนดินที่พัดพามากับแม่น้ำโขงในช่วงของฤดูน้ำหลาก เกิดเป็นชั้นตะกอนดินที่หนาและมีลักษณะเป็นหาดตามแนวยาวของสันเขื่อนริมฝั่งแม่น้ำ เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูกพืชผักอายุสั้น ทำให้เกษตรกรในเขตเทศบาลเมืองนครพนมได้รวมตัวกันปลูกพืชอายุสั้นไว้เพื่อบริโภคและการจำหน่ายสร้างรายได้ เช่น คะน้า, กวางตุ้ง, ผักบุ้ง, มะละกอ, ผักกาดหอม, พริกและมะเขือเทศ เป็นต้น ปัจจุบันในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณหน้าวัดพระธาตุนครมีกลุ่มเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชผักหมุน เวียนตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีพื้นที่ในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรมากขึ้น

วันนี้ (6 พฤศจิกายน 2563) ณ วัดพระธาตุนคร อ.เมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้บูรณาการร่วมกับเทศบาลเมืองนครพนม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ในการพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักริมฝั่งแม่น้ำโขงเขตเทศบาลเมืองนครพนม ให้สามารถปลูกพืชผักที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน โดยดำเนินการภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร ในกิจกรรมการอบรมถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชผักตามมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ดีเหมาะสม (GAP) ซึ่งนับว่าเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมีความห่วงใยสุขภาพและให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัย

สำหรับการจัดอบรมมีเกษตรกรให้ความสนใจและเข้าร่วมจำนวน 80 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชริมฝั่งแม่น้ำโขงในเขตเทศบาลเมืองนครพนม และการจัดอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปฏิบัติในการผลิตสินค้าเกษตรตามระบบมาตรฐาน (GAP) และเป็นการเตรียมความพร้อมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยทางศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปลูกพืชที่ปลอดภัยและการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ พร้อมให้คำแนะนำและตรวจประเมินแปลงในเบื้องต้น เพื่อเป็นการรับรองกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐานก่อนการจำหน่ายผลผลิตไปสู่ผู้บริโภค

การผลิตพืชเพื่อให้ได้การรับรอง GAP มีข้อกำหนด 8 ประการ ดังนี้

  1. น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต ต้องมาจากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน
  2. พื้นที่ปลูก ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุอันตราย หรือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อผลผลิต
  3. วัตถุอันตรายทางการเกษตร จัดเก็บเป็นหมวดหมู่ให้มิดชิดและใช้ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
  4. การจัดการคุณภาพในกระบวนการผลิตก่อนการเก็บเกี่ยว มีแผนควบคุมการผลิต
  5. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีอายุเหมาะสมผลผลิตมีคุณภาพ
  6. การพักผลผลิต การขนย้ายในแปลงปลูกและการเก็บรักษาผลผลิต
  7. สุขลักษณะส่วนบุคคล ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความรู้ความเข้าในสุขลักษณะส่วนบุคคล
  8. การบันทึกข้อมูลและการตามสอบ มีการบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงาน

สำหรับการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรให้สามารถผลิตพืชได้อย่างปลอดภัย เกษตรกรจะต้องมีองค์ความรู้และศึกษาจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการปลูกพืชแบบปลอดภัย และเพื่อให้เกิดความมั่นคงเกษตรกรจะต้องมีการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกันขาย ในรูปแบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งจะทำให้กลุ่มเกษตรกรเกิดความเข้มแข็งและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้ในอนาคต


ภาพ/ ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม

เทพพนม รายงาน

error: Content is protected !!