รองศาสตราจารย์ ดร. วาริน อินทนา นักวิจัยสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ม.วลัยลักษณ์ เจ้าของผลงานวิจัยไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส (ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล) คว้ารางวัลชนะเลิศงาน RSP Innovation Day 2020
รองศาสตราจารย์ ดร. วาริน อินทนา รักษาการแทนรองคณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรฯ ม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ตนในฐานะเป็นตัวแทนภาคใต้ นำผลงานวิจัยไตรโค เดอร์มาไฟฝ์พลัส (ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล) เข้าร่วมการประกวดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ สาขานวัตกรรม/กระบวนการเชิงพาณิชย์ระดับประเทศ ภายในงาน Regional Science Park Innovation Day 2020 (RSP Innovation Day 2020) โดยมีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 44 สถาบันเข้าร่วม จัดโดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างวันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 โซน B เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
ผลการประกวด ปรากฎว่า ผลงานวิจัยไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัสฯ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสาขานวัตกรรม/กระบวนการเชิงพาณิชย์ระดับประเทศมาได้สำเร็จ เข้ารับโล่รางวัล พร้อมเงินรางวัลจำนวน 70,000 บาท จากศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในงานดังกล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร. วาริน กล่าวว่า ผลงานวิจัยไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัสฯ เป็นนวัตกรรมงานวิจัยที่รวมองค์ประกอบ 5 องค์ประกอบเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย เชื้อราไตรโคเดอร์มา NST-009 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมโรคพืช เชื้อราเมธาไรเซียม WU-003 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมหนอนและด้วงศัตรูพืช เชื้อราบิวเวอร์เรีย WU-002 ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมเพลี้ยและหนอนศัตรูพืช ธาตุอาหารแคลเซียมและแมกนีเซียมที่เพิ่มการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของเซลล์พืช และสารเสริมความแข็งแรงและกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์พืช ทำให้เกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายและแรงงานเพราะออกฤทธิ์ครอบคลุมได้หลายด้าน
“รู้สึกดีใจและยินดีเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นรางวัลยิ่งใหญ่ระดับประเทศและเป็นรางวัลแรกของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ ซึ่งเป็นสิ่งการันตีคุณภาพงานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่สามารถพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารที่เปิดโอกาสและสนับสนุนด้านการวิจัย ขอบคุณทีมงานศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ที่ให้การสนับสนุนในการแข่งขัน ตลอดจน สอว. ที่จัดการแข่งขันและเปิดโอกาสให้ทั้งนักวิจัยและนักธุรกิจได้แสดงแสดงความสามารถ” รองศาสตราจารย์ ดร. วาริน กล่าว
ธีรศักดิ์ อักษรกูล