สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โชว์ต้นแบบความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตองุ่นไชน์มัสแคท ณ สวนองุ่นฮักริมปิง เชียงใหม่ ผลงานการบูรณาการองค์ความรู้ของนักวิจัย ม.นเรศวร ในด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการโรคและแมลง เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวองุ่นไซน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ ตลอดจนการประเมินคุณภาพองุ่น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์เกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุ โลก และหัวหน้าโครงการ การจัดการความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตองุ่นไซน์มัส แคทเชิงพาณิชย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำชมความสำเร็จในการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่สวนองุ่นฮักริมปิง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีระศักดิ์ฯ พร้อมคณะ ได้สะสมความรู้เกี่ยวกับการผลิตและการจัดการเก็บเกี่ยวองุ่นไซน์มัสแคท ทั้งจากญี่ปุ่นและสวนองุ่นในไทย ได้แก่จังหวัดพิษณุโลก,เชียงใหม่,ลำพูน,ลำปาง และตาก ทำให้ได้รับทราบปัญหาของเกษตรกรโดยตรง และได้ทดลองเพื่อแก้ไขปัญหาในแปลงปลูกองุ่นไซน์มัสแคท ในมหาวิทยาลัยนเรศวร จากนั้นได้รวบรวมองค์ความรู้ เพื่อจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการโรคและแมลง เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวองุ่นไซน์มัสแคทเพื่อการพาณิชย์ และการประเมินคุณภาพองุ่น สำหรับงานวิจัยสนับสนุนองค์ความรู้ดังกล่าว ได้แก่
- งานวิจัยการผลิตองุ่นไซน์มัสแคท ตั้งแต่เริ่มเตรียมพื้นที่ปลูก การขยายพันธุ์ การปลูกและการดูแล ตั้งแต่ระยะแรกหลังปลูกถึงระยะเก็บเกี่ยว โดยองค์ความรู้จากงานวิจัยที่ถ่ายทอดแก่เกษตรกร ได้แก่ การตัดแต่งกิ่ง การควบคุมทรงพุ่ม การให้ปุ๋ยและน้ำ การใช้กรดจิบเบอเรลลิก (GA3) และ (CPPU) การตัดแต่งช่อผล เพื่อเพิ่มคุณภาพทางด้านกายภาพของผล เช่น สีผิวสวยงามสม่ำเสมอ ไม่กร้าน ขนาดผลใหญ่ขึ้น ไม่มีเมล็ด และช่อใหญ่ รสชาติหวาน
- งานวิจัยการเข้าทำลายโรค แมลง และการป้องกันกำจัดเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ โรคราน้ำค้าง,โรคกิ่งแห้ง,โรคแอนแทรคโนส,แสคป,โรคใบจุด,โรคราสนิม,โรคราแป้ง,โรคลำต้นและรากเน่าจากเห็ด,โรคใบไม้ใบลวก และโรคใบจีบคล้ายพัด ส่วนแมลงศัตรูพิชที่สำคัญ เช่น เพลี้ยไฟ,เพลี้ยอ่อน,หนอน,กระทู้หอม,แมลงวันผลไม้ และหนอนเจาะสมอฝ้าย
- ระบบการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้จากงานวิจัย เช่น การปรับปรุงคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว,การคัดบรรจุ,การเก็บรักษาอุณหภูมิต่ำ และยืดอายุการเก็บรักษาด้วยการดัดแปลงสภาพบรรยากาศ และสุดท้ายคือ
- การรวมกลุ่มของเกษตรกร การตลาด โดยมีกิจกรรมให้ผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลาง และกลุ่มเกษตรกรร่วมเสวนา เพื่อหาแนวทางการจัดการและการปรับปรุงคุณภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพในตลาดส่งออก
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน