พล.ต.ต.วรายุทธฯ รองผบช.ตชด.พร้อมคณะ ลุยป่าฮาลาบาลา “อเมซอนแห่งเอเชีย” ตรวจเยี่ยมชุดพิทักษ์ป่าฮาลาบาลา และตชด.3 จ.ชายแดนใต้ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กำลังพล
วันที่ 16 ธันวาคม 2563 : พลตำรวจตรี วรายุทธ สุขวัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (รองผบช.ตชด.) พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ณรงค์ ธนานันทกุล รองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 (รองผบก.ตชด.ภาค4) เดินทางไปตรวจเยี่ยมกำลังพลและรับฟังการบรรยายสรุปภารกิจหน้าที่และการปฏิบัติงานของตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 อำเภอเมือง จังหวัดยะลา โดยมี พันตำรวจเอก บูรหัน ตานีเห็ง ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 (ผกก.ตชด.ที่ 44) และข้าราชการตำรวจในสังกัด ร่วมรับการตรวจเยี่ยม
พลตำรวจตรี วรายุทธฯ ได้ให้คำแนะนำในการทำงาน เน้นย้ำขอให้กำลังพลปฏิบัติหน้าที่ด้วยความไม่ประมาท รวมทั้งระมัดระวังในการปฏิบัติงานให้มีความตื่นตัว ระวังภัยอยู่ตลอดเวลา และอำนวยพรให้กำลังพลทุกนาย พร้อมครอบครัวประสบแต่ความสุข ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แคล้วคลาดจากภัยอันตราย มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน สังคม และชื่อเสียงของ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ต่อไป
หลังจากนั้นได้เดินทางไปผืนป่าฮาลาบาลา เพื่อตรวจเยี่ยมชุดพิทักษ์ป่าฮาลาบาลา อ.เบตง จ.ยะลา โดยมีภารกิจ ปฏิบัติการพิทักษ์สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 (ป่าฮาลา–บาลา )
ในอดีตบ้านฮาลา ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา เดิมเคยเป็นพื้นราบ เป็นทุ่งนา มีประชากรประมาณ 200 คนอาศัยอยู่ ต่อมารัฐบาลได้ก่อสร้างเขื่อนบางลาง บริเวณบ้านฮาลาถูกน้ำท่วม ทางจังหวัดยะลาจึงได้อพยพราษฎรออกจากพื้นที่ โดยจัดสรรพื้นที่ทำกินแห่งใหม่ให้ ณ บริเวณบ้าน กม.26 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา นอกจากนั้นในพื้นที่ดังกล่าว ยังเป็นเขตอิทธิพลของขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มลายา หรือ (จคม.) ต่อมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหา (จคม.) ได้สำเร็จและสมาชิก (จคม.) ออกมารายงานตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ทำให้พื้นที่บ้านฮาลาปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามราษฎรที่อาศัยอยู่เดิมต้องการที่จะเข้าไปอยู่อาศัย ทางราชการเห็นว่าพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้นานาชนิด ตลอดถึงยังเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำสายบุรี และ แม่น้ำปัตตานี
ความทราบถึงสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง พระองค์ท่านมีความเป็นห่วงว่าผืนป่าต้นน้ำจะถูกทำลาย พระองค์ท่านถึงได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ กองราชเลขานุการในพระองค์ ร่วมกับ กองทัพบก,กรมป่าไม้,จังหวัดสตูล, สงขลา, ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ร่วมกันเพื่อป้องกันและรักษาผืนป่าแห่งนี้ให้มีความสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ศึกษาธรรมชาติ จึงมีการริเริ่ม โครงการสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จำนวน 2 โครงการ คือ
- โครงการสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 1 อยู่ในพื้นที่จังหวัดสตูล
- โครงการสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 คือ ผืนป่าฮาลา-บาลา ในพื้นที่ อ.เบตง
จ.ยะลาปัจจุบันพื้นที่โครงการสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ อันเนื่องมาจากเป็นพื้นที่ที่มีสัตว์ป่าจำนวนมาก โดยเฉพาะ กระทิง,ฝูงนกเงือก,กวางป่า และเป็นแหล่งของปลาพวงชมพู หรือ ปลากือเลาะ ซึ่งเป็นปลาที่มีรสชาติอร่อยและมีราคาแพง
โครงการพิทักษ์สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 กับ ตำรวจตระเวนชายแดน กก.ตชด. 44 ได้รับมอบหมายจากกองทัพภาคที่ 4 ให้จัดกำลังเข้าปฏิบัติการป้องกันปราบปรามการลัก ลอบตัดไม่ทำลายป่าและล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลากก.ตชด.44 จึงได้สั่งการให้ ร้อย ตชด.445 จัดกำลัง 1 ชุดปฏิบัติ เข้าปฏิบัติภารกิจ ตั้งแต่ 19 เม.ย.35 จนถึงปัจจุบัน โดยมีภารกิจในการลาดตระเวนเฝ้าตรวจสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ป่า,การรักษาความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และ การทำหน้าที่มัคคุเทศก์ให้ความรู้แก่นักเรียน,นักศึกษา และนักท่องเที่ยว มีเข้าชมผืนป่า ในปัจจุบัน ร้อย ตชด.445 ได้จัดกำลังเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลา จำนวน 2 ชุดปฏิบัติการคือ
- ชุดที่ 1 ตั้งที่ บริเวณป่าที่เป็นต้นน้ำ การเดินทางเข้าไปหรือการส่งกำลังบำรุง จะใช้ ฮ. เป็นหลัก
- ชุดที่ 2 ตั้งที่ บริเวณจุดสกัด ซึ่งห่างจากชุดที่ 1 ประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นบริเวณปากทางในการเข้าไปในพื้นที่คลองฮาลา
การเดินทางเข้าไปหรือการส่งกำลังบำรุง ส่วนใหญ่จะใช้เรือหางยาว ซึ่งจะมีระยะทางใกล้กับโครงการจุฬาภรณ์ 7 ชุดปฏิบัติการพิทักษ์สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โดย เมื่อวันที่ 27 ก.ย.39 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯ ทรงเยี่ยม ชป.พิทักษ์ป่าฮาลาบาลา พระราชทานพระราชทรัพย์ในการต่อเรือหาง และ พระราชทานวิทยุสื่อสาร จำนวน 1 ชุด
- วันที่ 11 ต.ค.42 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯเป็นครั้งที่ 2
- วันที่ 2 ก.ย.43 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯ เป็นครั้งที่ 3
- วันที่ 16 ก.ย.43 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯ ทอดพระเนตรสภาพป่าและสำรวจพันธุ์ไม้
- วันที่ 9 ก.ย.44 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จฯ ทรงเยี่ยมกำลังชุดปฏิบัติการพิทักษ์ป่าฮาลาบาลา ทรงรับฟังการบรรยายสรุป และ ทอดพระเนตรสภาพป่า
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน