ข่าวใหม่อัพเดท » เกษตรนครพนม แนะเกษตรกรไม่เผาในพื้นที่การเกษตร ลดปัญหาฝุ่นละออง พร้อมได้ (5 ดี) ทันที

เกษตรนครพนม แนะเกษตรกรไม่เผาในพื้นที่การเกษตร ลดปัญหาฝุ่นละออง พร้อมได้ (5 ดี) ทันที

21 ธันวาคม 2020
0

จากสถานการณ์ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาวิกฤตหมอกควันปกคลุม และเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งการเผาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง กล่าวคือ การเผาในพื้นที่การเกษตรเป็นการทำลายโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นด้วย ดังนั้น จึงได้มีการสนับสนุนการนำเศษวัสดุการเกษตรมาทำประโยชน์ เพิ่มมูลค่า ทดแทนการเผา

นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคมถึงช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เป็นช่วงที่เกษตรกรเริ่มที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแล้วในบางพื้นที่ ซึ่งหลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรบางรายจะทำการเผาฟางข้าว เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกพืชต่อ สำหรับการเผาในพื้นที่การเกษตรนั้นส่งผลให้เกิดฝุ่น ควัน และก๊าซพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิต รวมทั้งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน ปัญหาฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง และน้ำท่วมขัง และที่สำคัญการเผายังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรตรา 220 คือ หากผู้ใดที่กระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใดๆ แม้จะเป็นของตนเองจนน่าจะก่อให้เกิดอันตรายกับบุคคลอื่น หรือทรัพย์สินของผู้อื่น จะต้องระวางจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท จะเห็นว่าแม้จะเป็นพื้นที่ของตนเองทุกคนก็จะต้องร่วมมือกันในการไม่เผาโดยเด็ดขาด และในด้านการเกษตรการเผายังเป็นการทำลายหน้าดิน โครงสร้างของดิน จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน และยังทำลายอินทรียวัตถุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชภายในดินอีกด้วย

การเผาฟางข้าวทำให้สูญเสียธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการ ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 217 บาท/ไร่ โดยเป็นธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการ ได้แก่ ไนโตรเจน 6.9 กก./ไร่ คิดเป็นมูลค่า 63 บาท/ไร่ ฟอสฟอรัส 0.8 กก./ไร่ คิดเป็นมูลค่าและโพแทสเซียม 15.6 กก./ไร่ คิดเป็นมูลค่า 147 บาท/ไร่ จะเห็นว่าการเผาในพื้นที่การเกษตรจะยิ่งทำให้เกษตรมีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น และผลผลิตที่ลดลงจากเดิม เนื่องจากการสูญเสียธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชภายในดิน อีกทั้งคุณสมบัติในการดูดยึดธาตุอาหารของพืชก็ลดลงด้วยเช่นกัน สำหรับทางเลือกที่จะไม่เผาในพื้นที่การเกษตรหรือนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดมูลค่ามีหลากหลาย วิธี เช่น การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ของดิน คืนชีวิตให้ดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้รับผลผลิตสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น การนำเศษตอซังฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรอื่น ๆ ที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูก มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ยังสามารถนำเอาเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น นำมาอัดก้อน หรือนำมาทำอาหารหมักเพื่อใช้เลี้ยงโค รวมทั้งนำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน โดยนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งหรืออัดก้อน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการอุตสาหกรรม หรือนำมาใช้ทำอาหารในครัวเรือน ทางเลือกที่ 5 นำมาเพาะเห็ด นำมาผลิตกระดาษ หรือของประดับ ทางเลือกที่ 6 นำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้าแห้งมาคลุมบริเวณโคนต้นพืช เก็บรักษาความชื้น “อุ้มน้ำ อุ้มปุ๋ย” ทางเลือกที่ 7 นำเปลือกซังข้าวโพดหรือฟางมาทำวัสดุเพาะปลูกทดแทนการเผา ซึ่งจะช่วยลดการเผา และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และทางเลือกสุดท้าย จำหน่ายวัสดุเหลือใช้การเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้กากปาล์ม กากมัน ซัง ข้าวโพด เศษไม้ ขยะ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานชีวมวล(Biomass) การไม่เผาในพื้นที่การเกษตร ได้ 5 ดี หากเราไม่เผาในพื้นที่การเกษตร จะทำให้เราได้ประโยชน์ 5 ดี ได้แก่

  • ดีที่ 1 อากาศที่ดี ปราศจากมลพิษทางอาหารจากฝุ่น ควัน
  • ดีที่ 2 สุขภาพที่ดี ไม่ประสบปัญหาระบบหายใจที่สูดควันพิษ
  • ดีที่ 3 ดินดี โครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดินจะดี
  • ดีที่ 4 สิ่งแวดล้อมดี ไม่มีสิ่งรบกวนและก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ
  • ดีที่ 5 รายได้ดี ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ

ดังนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่าการไม่เผาในพื้นที่การเกษตรมีประโยชน์อย่างไร เราจึงควรช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน


ภาพ/ ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม
เทพพนม รายงาน

error: Content is protected !!