วันที่ 28 ธันวาคม 2563 ที่ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม เพื่อประชุมหารือ ร่วมกันวางแนวทางดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ด้วยสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาครพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากรวมถึงจังหวัดอื่น ๆ ที่มีผู้เข้าไปสัมผัสเชื้อ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันบนพื้นฐานมาตรการเฝ้าระวังป้องกันไวรัสโควิด -19 ที่เข้มแข็งและเข้มข้น สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยือนจังหวัดนครพนม รวมถึงพิจารณางบประมาณจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อใช้ในการเก็บสิ่งส่งตรวจกลุ่มเป้าหมาย แรงงานต่าง ด้าว ผู้จำหน่ายอาหารทะเล และผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดระยอง เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 และหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือยับยั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ที่ประกาศ ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563 ข้อ 5 (2)
โดยในพื้นที่จังหวัดนครพนมไม่พบผู้ติดเชื้อมาแล้ว 258 วัน นับจากวันที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประกาศรายสุดท้ายของจังหวัดนครพนมเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2563 ขณะเดียวกันทางคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครพนมได้ส่งทีมสอบสวนโรคลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง จากผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 แล้ว 173 ราย ซึ่งไม่พบเชื้อแต่อย่างใด ขณะเดียวกันก็มีการเก็บตัวอย่างผู้ค้าอาหารทะเล 108 ราย ผลไม่พบเชื้อ 96 ราย อยู่ระหว่างรอผล 12 ราย ส่วนแรงงานต่างด้าวมีการเก็บตัว อย่างไปแล้ว 149 ราย เป็นพม่า 71 ราย ซึ่งครบทุกรายตามที่มีการสำรวจ ขณะที่แรงงานลาวมีการเก็บตัวอย่างไปแล้ว 75 ราย และกัมพูชา 3 ราย โดยทั้งหมดไม่พบเชื้อแต่อย่างใด
นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วย ตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ฝ่ายปกครองจังหวัดนครพนม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม และแรงงานจังหวัดนครพนม บูรณาการร่วมกันในการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในจังหวัดนครพนมอีกครั้ง พร้อมให้รายงานให้ที่ประชุมทราบเป็นการด่วน เพื่อตรวจสอบว่ายังมีแรงงานต่างด้าวตกหล่นสำรวจหลงเหลืออยู่ในพื้นที่หรือไม่ เนื่อง จากมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนกับผู้ประกอบการทั้งสิ้น 1,303 ราย แต่จากการสำรวจมีเพียง 345 รายที่ยังอยู่ในพื้นที่ โดยให้หาว่าจำนวนที่หายไปนั้น มีการเดินทางออกจากจังหวัดตั้งแต่เมื่อไหร่ หรือไปอยู่ที่ไหนเพื่อความชัดเจนของข้อมูล เพราะก่อนหน้านี้ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด – 19 ช่วงต้นปีส่วนหนึ่งได้มีการเดินทางกับไปยังประเทศต้นทางและปัจจุบันยังไม่ได้กลับเข้ามาทำงานที่จังหวัดนครพนม
สำหรับการจัดสรรงบประมาณจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์การตรวจของห้องปฏิบัติการนั้น ที่ประชุมมีมติให้ใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินทดรองราชการในเชิงป้องกันหรือเจ้ายั้งภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้สามารถดำเนินการตรวจคัดกรองตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้อนุมัติวงเงิน 1,361,000 บาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ สำหรับชุดอุปกรณ์เก็บตัวอย่าง ชุดสกัดสารพันธุกรรม น้ำยาสำหรับทำลายเซลล์ไวรัส น้ำยาเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรม เสื้อกาวน์ชนิดคลุมทั้งตัว ถุงมือไนไดรท์ หน้ากาก n95 หลอดดูดสารละลายชนิดมีตัวกรอง หลอดสำหรับเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมพร้อมฝาปิด หลอดพลาสติกขนาด 1.5 มิลลิลิตร และน้ำยาสำหรับทำลายเอนไซน์ Rnase
เทพพนม รายงาน