นครพนมเพิ่มมาตรการเข้ม คณะกรรมการโรคติดต่อฯ สั่งปิด 15 สถานที่เสี่ยงการแพร่ไวรัสมรณะ หนุ่มฝ่าฝืนคำสั่งกักตัวกระอัก เจอปรับหนัก 1 แสน
วันที่ 4 มกราคม 2564 ณ ห้องประชุมพระธาตุนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครพนม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม โดยมี นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธาน แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(covic-19) และการเฝ้าระวัง เพื่อรับสถานการณ์โรคโควิดระลอกใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยมีในที่ประชุมมีมติให้ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายเป็นการชั่วคราว จำนวน 15 กิจการทั่วทั้งจังหวัดนครพนม ได้แก่
- โรงภาพยนตร์
- ร้านคาราโอเกะ
- อาบ อบ นวด หรือ โรงน้ำชา
- ร้านเกม ตู้เกมส์ เครื่องเล่นหยอดเหรียญ
- ร้านสักหรือเจาะผิวหนัง
- สถาบันกวดวิชาทุกประเภท ห้ามจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรมหรือกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เว้นแต่ดำเนินการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีออนไลน์
- สนามไก่ชน รวมถึงสนามซ้อมไก่ กัดปลา สนามมวย ฯลฯ และสถานที่สำหรับจัดให้มีการพนันอย่างอื่นทุกชนิด
- โต๊ะสนุกเกอร์
- ร้านหรือศูนย์พระเครื่อง แผงพระ ทั้งกลางแจ้งและในร่ม
- สระว่ายน้ำ รวมทั้งในโรงแรมและสถานศึกษา
- สระน้ำเพื่อการกีฬา หรือในบึง
- ร้านสปา นวดแผนไทย แผนโบราณฯลฯ
- เครื่องเล่นในลักษณะที่เป็นสวนสนุก เครื่องเล่นเป่าลม บ้านลม บ้านบอล หรือเครื่องเล่นหยอดเหรียญ
- โรงเรียน สถาบันศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก โดยมีกำหนดระหว่างวันที่ 5-18 มกราคม นี้
- สถานบริการ เช่น ผับ บาร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังห้ามมีการชุมนุมหรือมั่วสุม เช่น การแสดงดนตรี รถแห่ รำวง โดยห้ามสังสรรค์รื่นเริงที่เป็นการรวมผู้คนจำนวนมาก ยกเว้น งานแต่งงาน งานศพ งานประเพณีที่มีความจำเป็น จำกัดจำนวนคนไม่เกิน 100 คน และต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่นั้นๆ
เนื่องด้วยนครพนมเป็นจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัสมรณะ จึงถูกกำหนดให้อยู่ในมาตรการควบคุมสูงสุด(สีเหลือง) เพื่อเป็นการระงับยับยั้งการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ และต้องเป็นจังหวัดที่ปลอดเชื้อตลอดไป จึงต้องมีมาตรการในการควบคุมไม่ให้จังหวัดสีแดงนำผู้ติดเชื้อเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสีเหลือง
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครพนม จึงกำหนดให้มีมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น โดยสั่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง หมั่นตรวจตราสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยว ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ศูนย์บริการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำหนด ทางจังหวัดจะพิจารณาให้สถานบริการนั้นๆหยุดบริการทันที
พร้อมกันนี้ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเข้มข้นในการค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย กำชับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เฝ้าระวังการลักลอบเข้ามาในพื้นที่จังหวัดนครพนมของคนที่เดินทางมาจากการระบาดของโรค โดยห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว และให้โรงพยาบาลกำหนดมาตรการงดเยี่ยม
สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีนายธีรภัทร(สงวนนามสกุล) ราษฎรบ้านคำเตย หมู่ 4 ต.คำเตย อ.เมือง จ.นครพนม เดินทางมาจากจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 หลังได้รายงานกับ อสม.ฯแล้ว ก็มีหนังสือให้กักตัวเองอยู่ในบ้านพักเป็นเวลา 14 วัน แต่ปรากฏว่านายธีรภัทรฝ่าฝืนเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ โดยแอบหลบออกไปนอกบริเวณกักตัว จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี ซึ่ง พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผบก.ภ.จว.นครพนม เปิดเผยว่าคดีดังกล่าว ผู้ต้องหาได้ประกันตัวออกไป โดยถูกนำตัวไปสังเกตอาการอยู่ศูนย์เรียนรู้ยางพารานครพนม บริเวณอ่างเก็บน้ำ ต.หนองญาติ อ.เมืองนครพนม ที่จัดตั้งเป็นหอผู้ป่วยใช้สำหรับกักตัวบุคคลที่มีความเสี่ยง สำหรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าไปในสถานที่ชุมชน จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งกรณีนี้เจ้าหน้าที่จะพิจารณาตามหลักความเป็นจริง ว่า เจตนาไม่ใส่หรือมีความจำเป็นอะไร “โดยมาตรการที่คณะกรรม การโรคติดต่อกำหนดออกมาไม่ใช่เพื่อผู้หนึ่งผู้ใด แต่เพื่อความปลอดภัยของตัวท่านเองต่างหาก” ผบก.ภ.จว.นครพนม กล่าว
เทพพนม รายงาน