NU Bio Bags นวัตกรรมพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม จะดีแค่ไหน ถ้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เราใช้กันทุกวัน จะไม่ไปจบที่หลุมฝังกลบ หรือลอยอยู่ในทะเล แต่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างยั่งยืนได้
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบรางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2562 แก่ผลงานสิ่งประดิษฐ์ “NU Bio Bags นวัตกรรมพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม” แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ และคณะ แห่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อให้ผลงานจากนักวิจัยเป็นที่รู้จัก และได้รับการต่อยอดในภาคธุรกิจ และนำไปสู่การปรับใช้ในวงกว้างเพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยในประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรารัตน์ มหาศรานนท์ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้น NU Bio Bags นวัตกรรมพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม เริ่มจากความสนใจที่จะพัฒนาพลาสติกเพื่อการเกษตรที่สามารถย่อยสลายได้ 100% และไม่มีสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม ดังนั้น NU Bio Bags นวัตกรรมพลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อม จึงถูกพัฒนาขึ้นจาก แนวคิดเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาข้างต้น โดยที่ผลิตจากไบโอคอมโพสิตฟิล์มของพอลิแลคติกแอซิดหรือพีแอลเอผสมกากกาแฟ และใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติปราศจากการใช้สารเคมี ที่ต้องปราศจากสารเพราะเนื่องจากจะนำไปเป็นถุงปลูกพืชที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ กระบวนการผลิตถุงปลูกพืชเริ่มจากผสมด้วยเครื่องหลอมอัดรีดแบบสกรูคู่ มาใช้ในกระบวนการเป่าฟิล์มด้วยเครื่องอัดรีดแบบเป่า นำกากกาแฟมาใส่เป็นสารตัวเติม
มีองค์ประกอบหลักคือเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส ลิกนิน และมีส่วนประกอบของน้ำมันกาแฟ ที่มีคุณสมบัติเป็นพลาสติกไซเซอร์ที่นำมาแทนพวกสารเคมีพาทาเลท อีกทั้งที่เลือกกากกาแฟ เนื่องจากมีธาตุอาหาร ไนโตรเจน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส ที่พืชต้องการสำหรับการเจริญเติบโตของพืช มีความสามารถในการป้องกันรังสียูวี ทำให้รากพืชสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่โดยที่ไม่โดนแสงแดดทำลายในขั้นตอนเพราะชำกล้า และกากกาแฟสามารถช่วยไล่ศัตรูพืชได้ เช่น มด รวมถึงสัตว์ที่มีผิวหนังเป็นเมือก เช่น หอยทาก ไส้เดือน และแมลงบางชนิด มักไม่ชอบความเป็นกรดที่อยู่ในกากกาแฟ คุณสมบัติเด่นของ NU Bio Bags จากไบโอคอมโพสิตฟิล์มพีแอลเอผสมกากกาแฟ สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ 100% ย่อยสลายแล้วไม่มีสารเคมีตกค้าง เนื่องจากในกาแฟนั้นมีน้ำมันกาแฟเป็นองค์ประกอบอยู่จึงเสมือนเป็นตัวช่วยในการผสมแบบธรรมชาติ ในการเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ พีเอลเอ
สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไบโอคอมโพสิตฟิล์มพีแอลเอผสมกากกาแฟ มีการพัฒนาต่อยอดจากถุงปลูกพืช NU Bio Bags เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในห้องน้ำตามโรงแรม อาทิ สบู่ก้อน รวมถึงต่อยอดไปสู่การทำถุงบรรจุภัณฑ์ข้าวกล้อง และถุงบรรจุช้อน-ส้อม จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากไบโอคอมโพสิตฟิล์มพีแอลเอผสมกากกาแฟ ได้ถูกนำเข้าไปใช้จริงในบริษัท กาแฟพันธุ์ไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ในเชิงการสร้างเรื่องราวความเป็นมาและการใช้ประโยชน์จากกาแฟที่เป็นของเหลือทิ้ง อีกด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน