นครพนม – ชาวบ้านโวย !เจ้าท่าพลิกลิ้น อ้างไม่ได้สั่งรื้อสะพานไหว้รอยพระพุทธบาทกลางแม่น้ำโขง ปราชญ์ชาวบ้านสะอื้นเหมือนเหยียบย่ำหัวใจ
วันที่ 22 มกราคม 2564 ณ วัดพระพุทธบาทเวินปลา หรือวัดโพธิ์ชัย บ้านเวินพระบาท หมู่ 1 ต.เวินพระบาท อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีชาวบ้านจำนวนหลายสิบคนมาร่วมตัวกันภายในบริเวณวัด เนื่องจากเมื่อวานนี้(21 มค.) มีเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า พร้อมด้วยปลัดเทศบาลตำบลเวินพระบาท เข้ามาตรวจสอบพื้นที่พระพุทธบาทเวินปลากลางแม่น้ำโขง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน และสะพานเหล็กที่ใช้ข้ามไปไหว้พระพุทธบาท ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์คการท่องเที่ยวของบ้านเวินพระบาท และจังหวัดนครพนมอีกแห่งหนึ่ง
โดยเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าได้คนไปตามตัวผู้ใหญ่บ้านมาพบ แต่ติดภารกิจไปร่วมพิธีงานศพจึงมีนายประเสริฐ ภะวะ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมาแทน เจ้าหน้าที่จึงเขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งฉบับ แจ้งว่ามีสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำประเภทสะพานเข้าไปในแม่น้ำโขง สงสัยจะกระทำโดยมิได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 มีความผิดมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตารางเมตรละ 1,000-20,000 บาท จึงสั่งให้รื้อถอนสะพานดังกล่าวภายในวันนี้ แม้จะมีการต่อรองว่าขอเป็นวันอื่น เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าก็ไม่ยอม มิเช่นนั้นจะเอาตำรวจมาจับ ชาวบ้านจึงเกณฑ์กำลังคนมารื้อสะพานมาเก็บไว้ริมฝั่ง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านไปพบที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 7 สาขานครพนม ในวันที่ 22 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น.
รุ่งเช้าชาวบ้านจึงมาร่วมตัวกันที่บริเวณวัดอีกครั้ง โดยมีนายสุขิน สีเพ็ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต. เวินพระบาท พร้อมด้วยสมาชิกเทศบาลตำบลฯ เดินทางไปยังสำนักงานเจ้าท่าฯ ร่วมเข้าประชุมกับเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าฯ โดยนายวิษณุ สุราวุธ เจ้าพนักงานตรวจท่าปฏิบัติการ ผู้ออกหนังสือฉบับดังกล่าว อ้างกับที่ประชุมว่าแค่เข้าไปเตือนเกรงจะผิดกฎหมาย และไม่ได้สั่งให้รื้อเป็นการสื่อสารกันผิด นายสุขินฯผู้ใหญ่บ้านตอบกลับทันทีว่า “ในหนังสือคุณไม่ได้สั่งให้รื้อ แต่ตอนที่ผมโทรหาคุณเวลา 16.00 น. คุณสั่งด้วยวาจาให้รื้อมาไว้บนบกอย่างเดียว”
จากนั้นนายเรืองชัย ป้องกัน อายุ 64 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน/ประธานวัฒนธรรมตำบลเวินพระบาท เล่าว่าพระพุทธบาทเวินปลานี้เป็นแก่งหินเล็กๆ กลางแม่น้ำโขง ที่มีรอยประทับเป็นรูปรอยเท้า ตามตำนานความเชื่อของชาวบ้านว่าเป็นรอยพระพุทธบาทขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในเรื่องเล่าติดต่อกันมาแต่โบราณ และเชื่อว่าอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี การที่มีคนเข้า ไปสั่งการให้รื้อสะพาน เหมือนมาเหยียบย่ำหัวใจชาวบ้าน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าที่วัดพระบาทเวินปลานี้ จะมีประเพณีการสร้างสะพานลงไปสักการะรอยพระพุทธบาทกลางแม่น้ำโขงทุกปี และถ้าเป็นช่วงปกติที่ไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ก็จะมีงานบุญประเพณีเล็กๆ ในชุมชน เพื่อทำพิธีสักการะบูชากันเป็นประจำ ซึ่งจะเป็นช่วงแม่น้ำโขงลดลงจนแก่งหินที่ตั้งรอยพระพุทธบาทโผล่พ้นน้ำมาเพียงหนึ่งครั้งในรอบปีเท่านั้น
ในระยะปีหลังๆ มานี้ การขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติเหมือนในสมัยแต่ก่อน แต่ขึ้นอยู่กับการกักน้ำและปล่อยน้ำของเขื่อนทางต้นทางในประเทศจีนและประเทศลาว ทำให้บางปีมีระยะเวลาที่น้ำลดนานกว่าปกติ การลงไปสักการะรอยพระพุทธบาทเวินปลา จึงลงไปไหว้ได้นานมากขึ้นหลายเดือน จากนั้นทางสำนักงานเจ้าท่าฯ นครพนม มีมติว่าในวันจันทร์ที่ 25 มกราคมที่จะถึงนี้ จะออกหนังสือรับรองอย่างถูกกฎหมาย ให้นำสะพานเหล็กยื่นกลับไปเหมือนเดิม ทำให้ชาวบ้านพอใจ ซึ่งต่างจากวันแรกที่เจ้าหน้าที่ขึงขังงัดกฎหมายมาข่มขู่อย่างเดียว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สมัยดั้งเดิมถึงฤดูแล้งระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลง รอยพระพุทธบาทก็จะโผล่พ้นน้ำ ชาวบ้านจะลงขันร่วมกับทางวัด ทำสะพานไม้เล็กๆ แบบชั่วคราว เพื่อเดินข้ามไปทำบุญยังพระพุทธบาทที่อยู่กลางแม่น้ำ ต่อมามีการพัฒนาปูลานคอนกรีตเล็กๆ อยู่ข้างๆ หินรอยพระพุทธบาท สำหรับให้ประชาชนชาวพุทธที่ข้ามไปมีพื้นที่สำหรับกราบไหว้บูชาได้สะดวกขึ้น สำหรับสะพานไม้ก็จะรื้อทิ้งทุกปีเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก ภายหลังเปลี่ยนจากสะพานไม้ที่เดินข้ามไม่สะดวกมากนัก เป็นการเสริมสะพานโครงเหล็กแบบมีราวจับเพื่อความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น
เทพพนม รายงาน