เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ รฟม.ออกมาประกาศก้องว่าจะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มจาก 17-62 บาท เหลือ 15-45 บาท จะทำได้จริงหรือไม่ ต้องติดตามหลังจากผมได้เขียนบทความเรื่อง “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง! ค่าตั๋วรถไฟฟ้าสายสีส้มพอๆ กับสายสีเขียวที่ ก.คมนาคมแย้งว่าแพง” ไปเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2564 ทำให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564
เนื้อหาในบทความของผมสรุปได้ว่าจากเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน (Request for Proposal หรือ RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม.ระบุค่าโดยสาร ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 ราคา 17-62 บาท ซึ่งเป็นอัตราใกล้เคียงกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว แต่ถูกกระทรวงคมนาคมแย้งว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวแพง ดังนั้น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มก็ต้องถือว่าแพงเช่นกัน ผมจึงเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาลดค่าโดยสารลงมา
ในที่สุด รฟม.ในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้ออกโรงมาชี้แจงว่าค่าโดยสารที่ระบุไว้ใน RFP ราคา 17-62 บาทนั้น ใช้เฉพาะให้เอกชนยื่นข้อเสนอร่วมลงทุนโดยใช้สมมติฐานค่าโดยสารเดียวกันในการคำนวณรายได้จากค่าโดยสาร แต่เมื่อเปิดใช้งานจริง รฟม.จะลดค่าโดยสาร (ช่วงตะวันออก) ลงเหลือ 15-45 บาท การชี้แจงดังกล่าวเป็นไปตามที่ผมเรียกร้องให้หั่นค่าโดยสารลงมา เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีส้มได้รับเงินสนับสนุนด้านงานโยธาจากรัฐบาล ดังนั้น รฟม.จึงสามารถทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้ผมดีใจที่ รฟม.รับปากว่าจะลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม และเข้าใจดีว่าทำไม รฟม.ต้องออกมาชี้แจงเช่นนั้น
การลดค่าโดยสารให้ต่ำลงจากที่ระบุไว้ใน RFP ถือเป็นครั้งแรกในการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ การประมูลโครงการอื่นที่ผ่านมาไม่เคยเป็นเช่นนี้ ยกตัวอย่างเช่น การประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง รฟม. ระบุค่าโดยสารใน RFP ราคา 14-42 บาท เมื่อเปิดใช้งานจริง รฟม.ก็จะเก็บในอัตรานี้
รฟม.อ้างว่าเหตุที่ระบุค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มไว้ใน RFP ราคา 17-62 บาท แต่ของจริงจะเก็บ 15-45 บาท เป็นเพราะต้องการให้เอกชนยื่นข้อเสนอโดยใช้สมมติฐานเดียวกัน นั่นคือค่าโดยสาร 17-62 บาท ถามว่าทำไม รฟม.จึงไม่ระบุให้เอกชนใช้ค่าโดยสารจริงคือ 15-45 บาท เป็นบรรทัดฐานเดียวกันในการคำนวณรายได้จากค่าโดยสาร ซึ่งสามารถทำได้ และ รฟม.ได้ทำมาแล้วในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าอื่นทุกโครงการ
ผมเห็นด้วยที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มจะถูกลง แต่การลดค่าโดยสารแบบที่ รฟม.กำลังจะทำ จะก่อให้เกิดปัญหาต่อ รฟม. ดังนี้
- เอกชนผู้ชนะการประมูลจะขอลดผลตอบแทนที่เขาจะแบ่งให้ รฟม. เนื่องจากเขาคำนวณผลตอบแทนโดยใช้อัตราค่าโดยสาร 17-62 บาท เป็นฐานในการคำนวณ หาก รฟม.ลดค่าโดยสารลง ผลตอบแทนย่อมลดตามลงด้วย ด้วยเหตุนี้ รฟม.พร้อมจะรับผลตอบแทนน้อยลงหรือไม่?
- เอกชนผู้แพ้การประมูลจะร้องขอความเป็นธรรมจาก รฟม. เขาอาจอ้างว่าเขาสามารถเพิ่มผลตอบแทนแก่ รฟม. ให้สูงกว่าผลตอบแทนของผู้ชนะการประมูลที่ลดลงมาแล้วก็ได้ เพื่อทำให้เขาเป็นผู้ชนะการประมูล
หาก รฟม.ระบุอัตราค่าโดยสารใน RFP ให้ตรงกับความเป็นจริงที่จะใช้เมื่อเปิดเดินรถไฟฟ้า ปัญหาดังกล่าวก็จะไม่เกิดขึ้น
การออกมาชี้แจงเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของ รฟม.หรือไม่? แต่ปัญหาที่จะเกิดตามมาและรออยู่ข้างหน้า รฟม.จะทำอย่างไร? รวมถึงกรณีที่มีการแก้หลักเกณฑ์การประเมินคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มหลังจากปิดการขาย RFP แล้ว ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ปัญหาเหล่านี้จะสร้างความยุ่งยากให้แก่ รฟม.ในภายหลังอย่างแน่นอน ผมดีใจล่วงหน้าแทนผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่จะจ่ายค่าโดยสารถูกลง แต่ก็เห็นใจ รฟม.จริงๆ ที่ต้องออกมาชี้แจงเช่นนี้
ข้อสงสัยและข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์