เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 : นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวว่า (สช.) ได้มีหนังสือถึงผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนในระบบเรื่องซักซ้อมความเข้าใจการจัดการเรียนการสอนระหว่างปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ และการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่ผู้ปกครองเพื่อให้โรงเรียนพิจารณาคืนเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครองนั้น ในขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าโรงเรียนใดที่เก็บค่าธรรม เนียมซึ่งเข้าข่ายการแสวงหากำไรเกินควร ทาง (สช.) จะแจ้งให้ลด โดยค่าเทอมของโรงเรียนเอกชนที่เราเรียกกันนั้น ประกอบด้วย 2 ส่วน
- ส่วนแรกเค้าเรียกค่าธรรมเนียมการศึกษาโดย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
- ประเภทที่ไม่รับเงินอุดหนุน อาทิ โรงเรียนนานาชาติ หรือโรงเรียนสามัญบางโรงเรียนที่ไม่รับเงินอุดหนุน แต่สามารถที่จะกำหนดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของโรงเรียนเองได้ โดยไม่ได้มีการกำหนดเพดาน
- ประเภทที่ 2 คือประเภทที่รับเงินอุดหนุน โดยจะเอาค่าใช้จ่ายรายหัวภาครัฐตั้ง แล้วหักเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลออกเหลือเท่าไหร่ทางโรงเรียนก็สามารถไปเก็บเงินกับผู้ปกครองได้ แบบนี้ที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมการศึกษา
- พวกที่ 2 ซึ่งจะเป็นพวกรายการยิบย่อยค่อนข้างเยอะเราเรียกว่าค่าธรรมเนียมอื่น ก็คือค่าใช้จ่ายบริการต่างๆ ที่โรงเรียนจัด อาทิ ค่ารถรับส่งนักเรียน ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่างเครื่องดื่ม ค่าซักฟอก ซักรีด ค่าสอนเสริมพิเศษ หรือค่าห้องแอร์ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งค่าธรรมเนียมอื่นในส่วนนี้ ถ้าเห็นว่าผู้ปกครองเป็นผู้รับภาระเสียเองในขณะที่โรงเรียนปิดโรงเรียนก็ต้องคืนให้
นายอรรถพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า และตามที่มีผู้ปกครองมาเรียกร้องว่าขอลดเป็น เปอร์เซ็นต์ภาพรวมของค่าเทอมเลยได้ไหม ตรงนี้นั้นไม่สามารถทำได้ โรงเรียนจะปฏิเสธว่าไม่คืนอะไรเลยก็ไม่ได้ ฉะนั้นผู้ปกครองและโรงเรียนเรียนต้องคุยกัน หากโรงเรียนไหนมีปัญหาเรื่องการเงินไม่สามารถคืนได้ ทั้งสองฝ่ายอาจเจรจาทำเป็นเครดิตไว้ใช้ หรือเอาไปลดกันภาคเรียนต่อไป
และในขณะนี้ (สช.) ได้ให้คณะทำงานเร่งตรวจสอบการเก็บค่าธรรมเนียมของโรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียนว่าโรงเรียนใดอยู่ในข่ายที่แสวงหากำไรเกินควรหรือไม่ หรือบางโรงเรียนที่ไปเก็บค่าใช้จ่ายจนเกินความจำเป็นเป็นภารของผู้ปกครอง หากมี สช. ก็สามารถสั่งให้ลดและคืนเงินผู้ปกครอง ขอเรียนให้ทราบว่า ทาง (สช.) ไม่ได้นิ่งนอนใจกำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ และเข้าใจภาระของทั้งโรงเรียนเอกชนและผู้ปกครอง แต่สำคัญว่า ทั้งสองฝ่ายควรจะพูดคุยหรือเจรจากัน นายอรรถพลฯ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการคืนค่าธรรมเนียมของโรงเรียนเอกชนนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้มีหนังสือถึง ศึกษาธิการจังหวัดทุกจังหวัด ยกเว้น (ศธจ.กรุงเทพ มหานคร, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, สตูล, สงขลา และ ผอ. (สช.) 5 จังหวัดชายแดนใต้) และผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนในระบบ ลงวันที่ 15 มกราคม 2564 เรื่องให้สถานศึกษาในสังกัดและในกํากับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษและการคืนค่าธรรมเนียมการศึกษาให้แก่ผู้ปกครอง ว่า ตามประกาศกระทรวงศึกษา เรื่องให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม 2564 กําหนดให้สถานศึกษาทุกแห่ง ของรัฐและเอกชนปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ
ต่อมาสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้รับเรื่องร้องเรียน จากผู้ปกครองเป็นจํานวนมากว่าโรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษาและประเภทนานาชาติได้บังคับให้นักเรียนระดับ ก่อนประถมศึกษาและระดับประถมศึกษาต้องเรียนผ่านออนไลน์เท่านั้น ซึ่งไม่เหมาะสมกับนักเรียน รวมทั้งยังเป็นการ สร้างภาระและความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครองมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการเรียกร้องให้โรงเรียนคืนค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นนั้น
สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกํากับของกระทรวงศึกษาธิการปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ.2564 มิได้บังคับให้โรงเรียนต้องจัดการเรียนการสอนเฉพาะ ผ่านออนไลน์เท่านั้น หากแต่โรงเรียนยังสามารถบริหารจัดการเรียนการสอนได้ตามบริบทและความเหมาะสม กับนักเรียนโดยอาจใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรืออาจใช้หลายวิธีร่วมกันก็ได้ และหากโรงเรียนใดมีข้อจํากัดที่ไม่สามารถจัด การเรียนการสอนด้วยวิธีใดๆ ได้เลย ก็ให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนชดเชยเมื่อสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ ดังนั้น เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษาและประเภทนานาชาติมีความเหมาะสม กับนักเรียนและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละโรงเรียน รวมทั้งเป็นการบรรเทาภาระและความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปกครอง ในกรณีผู้ปกครองร้องขอคืนเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่น ให้โรงเรียนพิจารณา ดังนี้
1.ค่าธรรมเนียมการศึกษารายการใดที่โรงเรียนจัดเก็บจากผู้ปกครองและไม่มีความจําเป็นต้อง ใช้จ่ายเนื่องจากปิดเรียนด้วยเหตุพิเศษ ควรพิจารณาคืนตามสัดส่วนที่เป็นจริง ได้แก่
1.1 ค่าอาหารและค่าอาหารว่าง
1.2 ค่ารถรับส่ง
1.3 ค่าเรียนดนตรี กีฬาและศิลปะ กรณีโรงเรียนไม่ได้การจัดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์
1.4 ค่าทัศนศึกษา
1.5 ค่าอาหารเสริมนม กรณีโรงเรียนไม่ได้จัดซื้อและจัดส่งให้นักเรียนถึงบ้าน
- รายการค่าธรรมเนียมอื่นรายการใดที่โรงเรียนจัดเก็บจากผู้ปกครอง หากมิได้ดําเนินการใด ควรพิจารณาคืนตามความเหมาะสม ได้แก่
2.1 ค่าเรียนคอมพิวเตอร์/ค่าอินเตอร์เน็ต/ค่าใช้บริการ ICT
2.2 ค่าเรียนเสริมภาษาต่างประเทศ
2.3 ค่าซักฟอก
2.4 ค่าเรียนว่ายน้ำ
2.5 ค่าเรียนเสริมวิชาการ
2.6 ค่ากิจกรรมค่ายเสริมทักษะวิชาการ/วิชาชีพ
ทั้งนี้ รายการที่ 2.1–2.6 ให้หมายความรวมถึงรายการค่าธรรมเนียมอื่นที่โรงเรียนจัดเก็บโดยใช้ ชื่อเรียกอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในทํานองเดียวกันด้วย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน