DSI ร่วมกับ สถานทูตเมียนมาร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมารฺ์ ถูกกักขัง บังคับใช้แรงงานในโรงงานขนมเยลลี่ ย่านลาดพร้าว
สืบเนื่องจาก ผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงาน สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ ประจำประเทศไทย ได้ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินการช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาร์ จำนวน 11 คน ซึ่งถูกกักขังและบังคับใช้แรงงานที่โรงงานทำขนมเยลลี่ ย่านลาดพร้าว พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงได้สั่งการให้ กองคดีการค้ามนุษย์ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาร์ดังกล่าวโดยด่วน
ล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 27 มกราคม 2564 พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะที่กำกับดูแลกองคดีการค้ามนุษย์ ได้สั่งการให้ พันตำรวจตรี สิริวิชญ์ ชาญเตชะสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ และ พันตำรวจตรี อาริชย์ ทัศน์พันธุ์ รองผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ สนธิกำลังร่วมกับ กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิ การและคุ้มครองแรงงาน,กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (บก. ตม.1 สตม.),เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย,เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตเมียนมาร์ ประจำประเทศไทย และผู้อำนวยการเขตลาดพร้าว ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจค้นเป้าหมายตามอำนาจของพระราชกำหนด การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 98 (2) และ (3) โดยมีมูลนิธิ IJM ร่วมสังเกตการณ์ ณ บ้านเลขที่ 59/18 ซอยลาดพร้าว 6 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
ซึ่งเป็นโรงงานทำขนมเยลลี่ มีลักษณะเป็นอาคาร 3 ชั้น มีประตูเหล็กปิดด้านหน้า และถูกคล้องกุญแจจากด้านนอก เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งให้เจ้าของสถานที่เปิดประตู แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จากนั้น ได้มีแรงงานชาวเมียนมาร์ จำนวน 4 คน เป็นชาย 3 คน และหญิง 1 คน ปีนหนีออกมาจากชั้น 3 สอบถามแรงงานชาวเมียนมาร์ดังกล่าว ได้ความว่าถูกกักขังและบังคับให้ทำงานตั้งแต่ 07.00-24.00 น. โดยไม่ให้ออกจากโรงงาน ส่วนแรงงานที่เหลืออีก 12 คน ยังอยู่ภายในโรงงาน ต่อมาเจ้าของสถานที่ได้ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นภายในโรงงาน ทราบชื่อเจ้าของสถานที่ คือ นางสาวลักษมล วิบูลย์ลัษณากุล อายุ 22 ปี โดยผลการตรวจค้นพบแรงงานชาวเมียนมาร์ จำนวน 18 คน เป็นเด็ก จำนวน 2 คน อายุ 16 ปี และ 17 ปี โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวแรงงานทั้งหมดไปยังสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย และแจ้งสหวิชาชีพเพื่อดำเนินการคัดแยกเหยื่อต่อไป
จากนั้น เวลา 14.00 น. พันตำรวจตรี อาริชย์ ทัศน์พันธุ์ รองผู้อำนวยการกองคดีการค้ามนุษย์ และร้อยตำรวจเอกหญิง อัศนีย์ รอดน้อย ผู้อำนวยการส่วนคดีการค้ามนุษย์ 1 ได้ประชุมหารือร่วมกับ พลตำรวจตรี นันทชาติ ศุภมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย,ผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดพร้าว,เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.),สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.1),กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และกรมการจัดหางาน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมาทั้งหมดข้างต้น
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน