ข่าวใหม่อัพเดท » “เผา” ผิดกฎหมาย !! เกษตรนครพนม แนะไม่เผาในพื้นที่การเกษตร ลดฝุ่นมลพิษ เน้นเกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้

“เผา” ผิดกฎหมาย !! เกษตรนครพนม แนะไม่เผาในพื้นที่การเกษตร ลดฝุ่นมลพิษ เน้นเกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้

29 มกราคม 2021
0

ปัญหาการเผาในที่โล่งทั้งในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่า ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเกิดฝุ่นมลพิษ หรือ PM 2.5 สำหรับเกษตรกร ควรงดเว้นการเผาโดยเด็ดขาดและเลือกใช้การไถกลบแทน ซึ่งจะได้สิ่งดีๆ 5 อย่างคือ อากาศดี สุขภาพดี เศรษฐกิจดีสิ่งแวดล้อมดี และได้ปุ๋ยดีจากธรรมชาติ นอกจากนี้การเผา ยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ตามมาตรา 25 คือ การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง สี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือนฝุ่นละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ (พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535) เกษตรกรจึงไม่ควรเผาในพื้นทีการเกษตร เพราอาจก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายได้

นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การทำการเกษตรในพื้นที่เกษตรกรมีการเผาในพื้นที่การเกษตร หรือการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ก่อให้เกิดฝุ่นมลพิษในอากาศเพิ่มขึ้น อีกทั้งการเผาก่อให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินผู้อื่น ตามมาตรา 220 คือ ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงให้แก่วัตถุใดๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท (ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2499) และหากยังมีการเผาต่อเนื่องจะทำให้ผิดกฎหมาย ตามมาตรา 74 คือ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 28 วรรคหนึ่ง หรือวรรคสาม หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ ที่ออกตามมาตรา 28/1 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุหรือขัดข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 23 มาตรา 27 วรรคสอง หรือมาตรา 28 วรรคสองต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ (แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560)

สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม กรมส่งเสริมการเกษตร ได้รณรงค์และสร้างความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกรและจัดทำแผนเชิงรุกในการป้องกันและเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่ โดยมีการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา เพื่อแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร และการสาธิตการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตรเพื่อลดปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร มาโดยตลอด เพื่อให้เกษตรกรเกิดความรู้ความเข้าใจในสภาพปัญหาที่เกิดจากการเผา แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมนำเสนอทางเลือกในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร เพื่อสร้างให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติและจิตสำนึก ให้ตระหนักถึงผลเสียจากการเผา และมีความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา จัดให้มีการสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อทดแทนการเผา มีศูนย์สาธิตเทคโนโลยีการเกษตรปลอดการเผา เพื่อสาธิตการใช้เทคโนโลยีการไถกลบตอซังฟางข้าวทดแทนการเผาโดยให้ชุมชนเกษตรเป็นผู้บริหารจัดการการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรทดแทนการเผาแก่เกษตรกรในพื้นที่ดำเนินงานและใกล้เคียง

การรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ดำเนินการถ่ายทอดความรู้พร้อมแนะนำการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยมีการคัดเลือกหมู่บ้านต้นแบบการปลอดการเผา โดยแนะวิธีการใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ด้วยการนำฟางข้าวมาเป็นอาหารเลี้ยงปลาแบบลดต้นทุน ซึ่งเกษตรกรจะต้องกองฟางข้าวไว้ที่ริมบ่อ ส่วนหนึ่งให้จมน้ำ ควรวางฟางข้าวไว้ใต้ลม เพื่อให้ได้รับอากาศจากลมพัด และฟางจะได้ไม่กระจายไปทั่วบ่อ เมื่อฟางข้าวใยบ่อยุบตัวลงก็ดันฟางข้าวที่ขอบบ่อลงไป ปลาก็จะมากินฟางข้าวที่เน่าเปื่อย ปลาสวาย ปลาสลิด ก็จะมากินฟางข้าวโดยตรง ส่วนปลาทับทิมจะกิน หนอน แมลง และ ลูกไรที่เกิดจากการหมักของฟางข้าว การเลี้ยงปลาโดยวิธีนี้ไม่ต้องให้อาหารอื่นใดเลยนอกจากฟางข้าวเพียงอย่าง เดียว เกษตรกรจะต้องกำหนดให้เวลา 1 ปี หมดฟางข้าวพอดี ก็จะเหลือแต่ฟางข้าวที่เป็นตอซังแข็งๆ เท่านั้นที่เหลืออยู่ที่ริมบ่อ การจับปลาจะต้องดูว่าช่วงใดราคาแพง ให้เลือกจับในช่วงนั้น หากช่วงใดราคาไม่ดี เราก็ขยายเวลาออกไปก่อน เพราะไม่มีต้นทุนอาหาร ยิ่งนานออกไปปลาก็ยิ่งโต ปลาก็ยิ่งได้ราคา และการเพาะเห็ดจากฟางข้าว การผลิตปุ๋ยหมัก การไถกลบเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน เป็นต้น ทั้งนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้ถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตรเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการสำนึกและรับผิดชอบต่อส่วนรวม เกิดการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยการสร้างมูลค่าเพิ่ม ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรให้ลดลงในอนาคต


**** ภาพ/ ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม

error: Content is protected !!