ช่างทอผ้าเพชรบูรณ์ นำลวดลาย คนแคระ และ ปรางค์ศรีเทพ ถักทอลงบนผืนผ้า ชูเอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจ
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้าน บ้านวังขอนพัฒนา ตำบลคลองกระจัง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่างใช้เวลาว่าง ช่วงว่างเว้นจากงานเกษตร ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการรวมตัวจัดตั้ง กลุ่มสตรีทอผ้า (บ้านวังขอนพัฒนา) ตั้งอยู่เลขที่ 58 หมู่ 17 ตำบลคลองกระจัง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อทอผ้าเปิดจำหน่าย ผ้าทอมัดหมี่ ผ้าพื้นสีต่างๆ ส่งขายตามงานโอทอป งานอำเภอ และงานประจำปีต่างๆ ทำให้สมาชิกในกลุ่ม สามารถมีรายได้เสริมจุนเจือครอบครัว เฉลี่ยราว 2,000 – 10,000 บาท/ต่อเดือน
นางเพียร ประเสริฐสัง อายุ 63 ปี ประธานกลุ่มสตรีทอผ้า (บ้านวังขอนพัฒนา) เปิดเผยว่า ทางกลุ่มจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2539 ปัจจุบัน มีสมาชิกกลุ่มอยู่ราว 30 คน ซึ่งส่วนใหญ่ ต่างได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาทอผ้า มาจากรุ่นปู่ย่าตายาย สืบต่อกันมา รุ่นสู่รุ่น โดยแต่ละคน ก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ตามความถนัดและความสามารถ รับงานไปทำบ้านใครบ้านมัน แล้วนำมารวมกัน เป็นผ้าทอมัดหมี่ และผ้าพื้นสีต่างๆ ลักษณะลวดลายเป็นผืน ขนาดความยาว 2 เมตร กว้าง 1 เมตร จำหน่ายในราคาผืนละ 500 บาท หรือหากต้องการนำไปตัดเป็นชุด ก็จะใช้ประมาณ 2 ผืน ตกชุดละ 1,000 บาท ซึ่งปัจจุบัน ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป ตลอดจนหน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ติดต่อเข้ามาสั่งซื้อ สั่งจอง เพื่อนำไปตัดเป็นชุด ใส่ออกงานกันเพิ่มมากขึ้น
และล่าสุด ทางกลุ่มฯ ก็ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอศรีเทพ ได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ ช่วยออกแบบ ผ้าทอลวดลายใหม่ๆ เพื่อสร้างความหลากหลายและความโดดเด่น โดยเฉพาะ ผ้าทอ 2 ลายใหม่ในขณะนี้ คือ ผ้าทอลายคนแคระ และ ผ้าทอลายปรางค์ศรีเทพ ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวศรีเทพ ที่นำมาวาดลวดลาย ลงไว้ในผ้าทอได้อย่างสวยงาม ลงตัว เพื่อต้องการให้ชาวเพชรบูรณ์ ได้ภาคภูมิใจ ในฝีมือช่างบรรพบุรุษ ที่ได้ทิ้งมรดกอันล้ำค่า ไว้ให้ลูกหลานสืบต่อมา รวมทั้ง ยังเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยว ที่มาเยือนเมืองมะขามหวาน เมื่อได้เห็นลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ แล้วจะต้องนึกถึงเมืองศรีเทพ และอยากมาชมความงดงามด้วยสายตาของตนเอง กันมากขึ้น
สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ไทย ปัจจุบันยังปรากฎร่องรอยหลักฐาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรงหรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่ง หรือทั้งสองประการ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่18-ต้นพุทธศตวรรษที่19 อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักและมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องมาจนเท่าถึงปัจจุบัน
มนสิชา คล้ายแก้ว