ข่าวใหม่อัพเดท » จ.จันทบุรี เดินหน้าวาระเร่งด่วน แก้ปัญหาช้างป่า เพิ่มความรู้ให้ชาวบ้าน

จ.จันทบุรี เดินหน้าวาระเร่งด่วน แก้ปัญหาช้างป่า เพิ่มความรู้ให้ชาวบ้าน

9 มีนาคม 2021
0

จ.จันทบุรี – เดินหน้าวาระเร่งด่วนแก้ปัญหาช้างป่า เพิ่มความรู้ให้ชาวบ้าน ขยายเครือข่ายอาสาเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า ปรับเทคโนโลยีเตือนภัยให้รวดเร็ว ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

วันนี้ ( 9 มี.ค.64 ) ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเข้าสอยดาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีเป็นประธานเปิดการฝึกอบรมอาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าจังหวัดจันทบุรี รุ่นที่ 8 ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนจังหวัดจันทบุรีในการแก้ปัญหาช้างป่า ตามแผนเผชิญเหตุช้างป่าโดยเฉพาะการบริหารจัดการภัยช่วงก่อนเกิดภัยที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือน จังหวัดจันทบุรีจึงได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ร่วมกับหน่วยงาน องค์กร และท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจัดฝึกอบรมอาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าขึ้น รวม 15 รุ่น ครอบคลุม 8 อำเภอ ยกเว้นอำเภอเมือง และ อำเภอแหลมสิงห์

โดยนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า จากสถิติในภาพรวมของจังหวัดพบว่ามีจำนวนช้างป่าเพิ่มขึ้น และแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มกระจายหากินครอบคุลมพื้นที่ส่งผลกระทบรวม 8 อำเภอ จังหวัดให้ความสำคัญกับปัญหานี้ โดยมุ่งเน้นแก้ปัญหาโดยวางหลักไว้ให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยทั้ง 2 ฝ่าย ที่ผ่านมาอุทยานแห่งชาติ และชาวบ้านได้รวมตัวกันจัดตั้งชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าเพื่อแจ้งเตือนภัย และพบว่ามีช้างป่าเข้ามาหากินใกล้ที่อยู่อาศัยประชาชนเพิ่มขึ้น

ทางจังหวัดเห็นความสำคัญและเป็นห่วงประชาชนจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมชุดเฝ้าระวังผลักดันช้างป่าในหมู่บ้านพื้นที่เสี่ยงภัยช้างป่า ให้ความรู้ในการป้องกันภัยจากช้างป่า ปรับฐานข้อมูล และวิธีการเตือนภัยที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร และขอขอบคุณอาสาทุกคนที่เสียสละในการเฝ้าระวังอันตราย ลดผลกระทบในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรในพื้นที่

ทั้งนี้ในพื้นที่อำเภอสอยดาว เป็นอำเภอที่มีพื้นที่เสี่ยงภัยจากช้างป่า โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยช้างป่า รวมจำนวน 3 ตำบล รวม 13 หมู่บ้าน คือ ต.ทรายขาว ต.ทับช้าง และ ต.ปะตง และในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบช้างทั้งหมด 17 ครั้ง ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือการที่มีช้างป่าออกมาหากินในพื้นที่รอยต่อระหว่างพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์กับพื้นที่การเกษตรของประชาชน พื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ และสระน้ำของหมู่บ้าน เนื่องจากในป่าอนุรักษ์มีอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของช้างป่า และประชาชนได้มีการปลูกพืชประเภทต่างๆ ที่เป็นอาหารของช้างป่า จึงทำให้เกิดเป็นปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับช้างป่า


ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา  ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย  พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก

error: Content is protected !!