ครั้งแรก สวทช.–วช. ผนึกกำลังเปิด 2 เวทีประลองเยาวชนเก่งโครงงานวิทย์-เขียนโปรแกรม
วันที่ 11 มีนาคม 2564 เวลา 13.30 น. ณ โถงอาคาร สวทช. (โยธี) ถ.พระรามที่ 6 กรุงเทพฯ : เป็นครั้งแรกของสองหน่วยงานสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผนึกกำลัง เปิด 2 เวทีประลองความสามารถเยาวชนในการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และการเขียนโปรแกรม พร้อมชู 2 อดีตเยาวชนที่เคยผ่านการแข่งขันทั้งสองเวที ซึ่งเติบโตเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่และโปรแกรมเมอร์ดาวรุ่ง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในการเปิดเวที “การประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1” ซึ่งเป็นความร่วมมือกันครั้งแรกของทั้งสองหน่วยงาน ที่ร่วมเปิดเวทีการประกวดเยาวชนคนเก่ง
สำหรับการประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประกอบด้วยโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition : YSC) และโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศ ไทย (The National Software Contest : NSC) ซึ่งทั้งสองโครงการมีการแข่งขันในรอบตัดสินเมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม 2564 และจะประกาศผลรางวัลในวันที่ 19 มีนาคม 2564
โครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ หรือ YSC เป็นโครงการเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาให้มีโอกาสแสดงความสามารถและทักษะที่เป็นนวัตกรรม และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประเทศ และคัดเลือกผู้ชิงชนะเลิศและคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยสำหรับเข้าประกวดในงาน Intel International Science and Engineering Fair : Intel ISEF ที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Regeneron ISEF เมื่อปี พ.ศ.2563 ซึ่งการประกวดดังกล่าวจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2493 โดย Society for Science & the Public
ส่วนโครงการการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย หรือ NSC จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟท์แวร์สำหรับเยาวชนทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาทักษะ ความคิดริเริ่มในการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านซอฟท์แวร์ของประเทศ ซึ่งผู้ชนะเลิศในประเภทนักเรียน นิสิตและนักศึกษา จะได้รับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และถือเป็นเวทีประกวดซอฟท์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ในระหว่างการแถลงข่าว ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เสวนาในหัวข้อ “ความร่วมมือในการพัฒนากำลังคน และความสำเร็จจากวันวาน…สู่วันนี้” ร่วมกับ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วยศิษย์เก่าในโครงการ YSC และ NSC และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดโครงงานในงาน Intel ISEF ณ สหรัฐอเมริกา ได้แก่ รศ.ดร.ทวีธรรม ลิมปานุภาพ จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี พ.ศ.2563 และนายณัฎฐ์ ปิยะปราโมทย์ วิศวกรซอฟท์แวร์อาวุโส บริษัท อโกด้า เซอร์วิสเซส จำกัด
ทางด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล กล่าวว่า “นอกเหนือจาก (สวทช.) จะมีภารกิจสำคัญในการวิจัยและพัฒนาแล้ว ก็ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนเยาวชนที่มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย และ (สวทช.) เข้าสู่ปีที่ 30 ในปีพ.ศ.2564 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมการประกวดที่สำคัญหลายกิจกรรม สำหรับผลงานโครงงานทั้งหมดของเยาวชนในโครงการ YSC มีทั้งสิ้น 12,026 โครงงาน และได้ส่งเข้าประกวดในเวที Intel ISEF จำนวน 79 โครงงานและได้รับรางวัลจากเวทีดังกล่าว 22 รางวัล และยังได้ส่งผลงานจากโครงการ YSC เข้าประกวดในเวทีประกวดระดับนานาชาติอื่นๆ รวม 99 ผลงานและได้รับรางวัลรวม 44 รางวัล เช่น I-SWEEP ที่ได้ส่งผลงาน 7 โครงงาน และได้รับรางวัล 8 รางวัล, Genius Olympiad ที่ได้ส่งผลงาน 1 โครงงานและได้รับ 1 รางวัล ขณะที่โครงการ NSC สามารถผลิตและสร้างนักเขียนโปรแกรมที่มีทักษะความสามารถสูงให้แก่วงการอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์จำนวนไม่น้อย”
ส่วน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ระบุว่า “(วช.) ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่เยาวชนผ่านเครือข่ายศูนย์ประสานงานภูมิภาค YSC ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี,มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อพัฒนาผลงานเข้าประกวดในโครงการ YSC และให้ทุนสนับสนุนแก่เยาวชนผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยภูมิภาค 6 แห่ง ได้แก่
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยบูรพา
- สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์
เพื่อพัฒนาผลงานสำหรับแข่งขันในโครงการ NSC อีกทั้งสนับสนุนทุนแก่ (สวทช.) ในการจัดการประกวดผลงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติครั้งนี้”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน