จันทบุรี – คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า กลุ่มภาคตะวันออกสภาผู้แทนราษฎรลงพื้นที่รับทราบข้อเท็จจริง และแนวทางความต้องการของพื้นที่ในการแก้ปัญหาช้างป่าก่อนสรุปหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป
วันนี้ ( 20 มี.ค.64 ) ที่ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า กลุ่มภาคตะวันออก นำโดย นายสรวุฒิ เนื่องจำนง ประธานคณะกรรมาธิการ และ นายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง นายบัญญัติ เจตนจันทร์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ นำคณะกรรมาธิการ และ ที่ปรึกษาเดินทางมาศึกษาดูงาน เกี่ยวกับการพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด
โดยนายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นำหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และ จังหวัดตราดให้การต้อนรับ และสรุปปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ปัญหาช้างป่าในพื้นที่หลังรับทราบปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหาที่ห้องประชุมแล้วเสร็จคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาช้างป่า ได้เดินทางไปติดตามการแก้ปัญหาและป้องกันช้างป่าออกมาหากินในชุมชนบ้านเรือนประชาชน ที่บ้านคลองครก หมู่ที่ 10 ต.พวา อ.แก่งหางแมว เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และ อาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า ดูแนวรั้วกั้นช้าง รับทราบปัญหา อุปสรรค ความต้องการ และพบปะกับชาวบ้าน
ทั้งนี้จังหวัดจันทบุรีได้วางแนวทางแก้ปัญหาช้างป่า เป็นวาระจังหวัด มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้ชาวบ้าน ขยายเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าครอบคลุมพื้นที่รวม 8 อำเภอซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบช้างป่าออกมาหากินในพื้นที่ใกล้ชุมชน มีการเตือนภัยที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของราษฎร และขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรีกำลังทดลองเครื่องมือที่ประดิษฐ์คิดค้นป้องกันช้างป่า เช่น เครื่องส่งสัญญาณเสียงไล่ช้าง และ เครื่องติดตั้ง GPS ติดตามความเคลื่อนไหวของช้างป่าเพื่อเป็นข้อมูลเตือนภัยชาวบ้านเมื่อช้างป่าเข้ามาใกล้ชุมชน
ทั้งนี้ในจังหวัดจันทบุรีมีปัญหาช้างป่าออกมาหากินนอกพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น โดยสถิติเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบสถิติมีช้างป่าออกมาหากินนอกพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ จำนวน 400 ถึง 500 ตัว จังหวัดจันทบุรีได้เร่งแก้ปัญหาให้คนและช้างอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัย รวมทั้งสร้างเครือข่ายอาสาเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่ามีการบูรณาการและประสานงานกันอย่างเป็นระบบส่งต่อกันในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างครอบคลุม โดยอนาคตเบื้องต้น ทางคณะกรรมาธิการจะได้มีการประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซ่อมแซมรั้วกันช้าง อาจจะมีการติดตั้งแบริเออร์ทดแทนรั้วกันช้าง มีการจัดพื้นที่อ่างฤไนยให้ช้างอยู่และมีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ให้ช้างเพื่อลดปัญหา
โอกาสนี้ชาวบ้านได้ร้องขอการแก้ปัญหาหลายเรื่อง อาทิ การติดชิปช้างป่าที่เกเรเพื่อป้องกันหากช้างเกเรเข้าใกล้ชุมชน เสนอจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มจากเดิมที่กำหนด แก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัยลดผลกระทบคนกับช้างป่า รวมทั้งสวัสดิการเป็นกำลังใจแก่ชาวบ้านอาสาสมัครพิทักษ์ช้างป่าที่เฝ้าระวังภัยในหมู่บ้าน เป็นต้น
ภาพ/ข่าว จรัล บรรยงคเสนา ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี
นาย พรเทพ เขม้นเขตวิทย์ รายงานจากศูนย์ข่าวภาคตะวันออก