ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ฌาปนสถาน วัดป่าไตรภูมิพระร่วง หมู่.1 ต.ท่าชัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งกำลังมีการจัดเตรียมพิธีประชุมเพลิงศพหญิงสูงวัย ซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคชรารายหนึ่ง ท่ามกลางความโศกเศร้าของบรรดาลูกหลานและญาติๆ กว่า 300คน โดยพิธีการดำเนินไปตามปกติ แต่จากการสังเกตุบริเวณหน้างาน พบชายหญิงสูงวัยคู่หนึ่ง กำลังตั้งแผงเตรียมขายข้าวหลามอย่างขมักเขม้น ซึ่งหลังจากผู้มาร่วมงานวางดอกไม้จันทน์เคารพศพ ลงมาจากเมรุ เตรียมกลับที่พัก ต่างรุมซื้อข้าวหลามจากแผงดังกล่าวติดมือกลับบ้านไปด้วยคนละ 1-3 มัด ซึ่งใช้เวลาเพียง 20 นาที ข้าวหลามที่เตรียมมาขายหลาย 100 กระบอก ถูกขายไปหมดเกลี้ยง
นายจักรกฤษณ์ อุดมประสิทธิ์ อายุ 68 ปี หรือลุงน้อย ชาวจ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า ตนกับนางประมวล อุดมประสิทธิ์ อายุ 63 ปี ภรรยาอยู่กินกันมากว่า 35 ปี แล้ว มีลูก 2คน คนโตเป็นผู้หญิงเรียนจบปริญญาตรี คนเล็กเป็นผู้ชาย จบอนุปริญญา ตนกับภรรยายึดอาชีพเผาข้าว หลามขายมา 41 ปี แล้ว โดยได้สูตรการเผามาจากพ่อ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากปู่อีกทอดหนึ่ง โดยตั้งร้านขายอยู่ริมถนนสายเอเชีย พิษณุโลก – เด่นชัย หมู่.6 ต.ป่าเซ้า อ.เมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งขายดีมากเพราะเป็นเจ้าแรกของจ.อุตรดิตถ์ ต่อมาเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เริ่มอยากลองออกไปขายตามงานต่างๆดูบ้าง โดยสังเกตุผู้ที่มาร่วมงานเผาศพ มักจะรอกันนาน และเจ้าภาพไม่นิยมเลี้ยงอาหาร นอกจากน้ำดื่ม หลายคนน่าจะหิว จึงเริ่มขายตามงานประชุมเพลิงศพ ในวัดต่างๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ลูกค้าที่ซื้อรับประทานต่างชมว่า หวานมัน อร่อยกำลังดี จึงตระเวนออกขายไปแทบทุกวัดในพื้นที่จ.อุตรดิตถ์
โดยชาวบ้านรู้จักในชื่อ “ข้าวหลามประมวล อร่อยระดับ 9 ดาว” และขยายมาที่จ.สุโขทัยด้วย โดยจะขอเบอร์โทร.เจ้าอาวาส หรือคนรับจ้างจัดงานศพ ตามวัดต่างๆ ไว้ แล้วคอยโทร.ถามว่าที่วัดใดมีงานเผาศพวันไหน เมื่อใด้กำหนดการแน่นอนแล้ว จึงเริ่มจัดเตรียมข้าวของตั้งแต่ตี 2 เริ่มแช่ข้าวเหนียว แล้วเริ่มกระบวนการเผากับส่วนผสม เช่นกะทิ น้ำตาล ถั่วดำ และสังขยา ตั้งแต่ตี 4 เผาเสร็จช่วงเช้าขนไปขายที่ร้าน พร้อมปอกกระบอกมัดรวม 3กระบอก/ 1มัด จนถึงเที่ยงปิดร้าน แล้วขน ข้าวหลามทั้งหมดใส่รถกะบะคู่ใจไปตั้งแผงตามหน้างานเผาศพของวัดต่างๆ ในราคามัดละ 20 ,50 และ100 บาท ตามขนาดเล็ก,กลาง,ใหญ่ บางวันมีงานเผาศพ 2 วัดพร้อมกัน ก็จะแยกกันขายกับภรรยาคนละวัด ในแต่ละวันจะขายได้ 900-1000 กระบอก ซึ่งค่าใช้จ่ายวัตถุดิบค่อนข้างสูง แต่เมื่อหักต้นทุนแล้วก็พออยู่ได้ในยุคสมัยเศรษฐกิจแบบนี้
พงศ์เทพ สาคร สุโขทัย