เกษตรนครพนม เปิดเวทีแบบมีส่วนร่วมนำความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตลิ้นจี่ นพ.1 ช่วยชาวสวนแก้ปัญหาลิ้นจี่ไม่ติดดอก!!
(วันนี้ 1 เมษายน 2564) เวลา 13.30 น. ที่ศูนย์สารสนเทศยางพารานครพนม สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดกิจกรรมการจัดเวทีเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การถ่าย ทอดเทคโนโลยีการผลิตลิ้นจี่ นพ.1 ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครพนม กิจกรรมย่อย ส่งเสริมการผลิตลิ้นจี่ นพ.1 ให้ได้คุณภาพ และเพิ่มผลผลิตด้วยงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาลิ้นจี่ นพ.1 ไม่ติดดอก เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และนำความรู้ด้านงานวิจัยเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพของผลผลิตลิ้นจี่ นพ.1 ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งมีเกษตรกรที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 120 คน
นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนม มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและได้รับการขึ้นทะเบียนพืช GI จำนวน 2 ชนิด คือ สับปะรด GI ท่าอุเทน และลิ้นจี่ นพ.1 สำหรับหรับลิ้นจี่ นพ.1 จะมีลักษณะที่ไม่เหมือนลิ้นจี่จากที่อื่น มีความโดดเด่น คือ มีผลขนาดใหญ่ เปลือกสีแดงอมชมพู และรูปทรงเหมือนไข่ เนื้อผลแห้งสีขาวขุ่น รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่มีรสฝาด โดยได้ได้ขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา และได้มาซึ่งตราสัญลักษณ์ GI ไทย เป็นสินค้าเกษตรที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งการผลิตลิ้นจี่ นพ.1 นั้นการให้ผลผลิตของลิ้นจี่จะประสบปัญหา คือ การไม่ติดดอกของต้นลิ้นจี่ในบางปี ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญ คือ สภาพแวดล้อม เช่น สภาพดิน น้ำ อากาศ โดยเฉพาะสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลิ้นจี่นั้นเกิดการติดดอก แต่เนื่องด้วยสภาพภูมิอากาศไม่สามารถควบคุมได้ จึงทำให้ในเฉพาะบางปีลิ้นจี่ไม่มีการติดดอก ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่ นพ.1 ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีผลผลิตที่จะจำหน่ายออกสู่ตลาดและมีต้นทุนการผลิตที่จะต้องแบกรับ ทำให้สูญเสียโอกาสและรายได้ในการจำหน่ายผลผลิตไป
สำหรับการจัดกิจกรรมในวันนี้ เน้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในแบบที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้ด้านวิชาการจากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ และกลุ่มเกษตรกรโดยตรง ในการนำเอาความรู้ด้านงานวิจัยมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตลิ้นจี่ นพ.1 เพื่อเพิ่มคุณภาพ เพิ่มผลผลิต และแก้ไขปัญหาที่เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาด้านการผลิตลิ้นจี่ นพ.1 ที่ยั่งยืน เพิ่มศักยภาพและโอการในการแข่งขันกับสินค้าเกษตรในภูมภาคอาเซียนได้อย่างเข็มแข็ง ทำให้เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่มีอาชีพ รายได้ที่มั่นคง เกิดการต่อยอดการใช้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีนวัตกรรมที่มีความเหมาะสมมาปรับใช้ในการลดต้นทุนการผลิต ทำให้ผลผลิตลิ้นจี่ นพ.1 เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น สร้างมูลค่าสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดนครพนมได้อย่างยั่งยืน
ภาพ/ ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม